ประวัติเศียรครู


พระพิฆเณศวร์

พระพิฆเนศวร์ เทพเจ้าของฮินดู เป็นโอรสของพระศิวะกับพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นเทพที่นิยมบูชากันมากที่สุดในบรรดาเทพฮินดูทั้งหลาย เนื่องจากพระองค์เป็นเทพผู้ขจัดความขัดข้องและเป็นผู้อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการทั้งปวง ชาวอินเดียเมื่อจะประกอบพิธีทางศาสนา หรือศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาจะต้องบูชาพระพิฆเนศวร์ เสียก่อนเพื่อขอความสำเร็จในกิจการนั้นๆ พระพิฆเนศ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คชานนท์ โดยมีลักษณะ กายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง มีพระกรรณกว้างใหญ่ งวงยาว มีงาข้างเดียว

โดยลักษณะรูปร่างของพระองค์แสดงถึงความเป็นสิริมงคล ความหมายในแต่ละส่วนของท่าน เปรียบได้ดังนี้ “พระเศียร” ทรงมีเศียรอันใหญ่ เปี่ยมล้นไปด้วยปัญญาความรู้ เป็นแหล่งที่รวมปัญญาทั้งหมด “พระกรรณ” ทรงใช้รับฟังคำสวดจากพระคัมภีร์และรับฟังความรู้ จากสิ่งอื่นๆ เปรียบเป็นสิ่งแรกแห่งการศึกษา “งวง” ได้รับเลือกจากการเฟ้นหาทวิลักษณะ ความผิด-ถูก ความดี-ความชั่ว ซึ่งมีงวงช้างที่ยาวและใหญ่ สำหรับการใช้ชั่งน้ำหนักต่อการกระทำหรือการค้นหาสิ่งที่ดีงามต่างๆ และปัญญานั้นเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาของชีวิตให้หลุดพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง นำไปสู่ความสำเร็จที่สมดั่งปรารถนา “งา” มีงาข้างเดียว ที่อีกข้างหักนั้น แสดงให้เห็นถึง การใช้ชีวิต ที่มีทั้งความดีและความชั่ว โดยทำความเข้าใจให้รู้ถึงความแตกต่าง “หนูมุสิกะ” บริวารของพระพิฆเนศ แสดงถึงความอยากได้หรือความปรารถนาของมนุษย์ “บ่วงบาศ” ทรงถือโดยทรงลากจูงคนทั้งหลาย เพื่อให้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์ “ขวาน” เป็นอาวุธที่พระองค์ทรงใช้ปกป้องความชั่วร้ายและขับไล่อุปสรรคต่างๆนาๆที่มาก่อกวนต่อบริวารของพระองค์ “ขนมโมทกะ” ซึ่งเป็นข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก เพื่อประทานให้ให้เราเป็นรางวัลในการปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์      “ท่าประทานพร” หมายถึง ความยิ่งใหญ่แห่งความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และความสำเร็จให้กับสาวกของพระองค์

หากพิจาณาจากความหมายในทางสัญญะ พระพิฆเนศ ทรงมีพระวรกายที่อ้วน นั้นแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ เศียรที่เป็นช้างให้ความหมายว่า เป็นผู้ที่มีปัญญามาก พระองค์ทรงมีตาที่เล็ก สามารถมองเห็นถึงการแยกแยะ สิ่งที่ถูกผิด ทรงมีหูและจมูกที่ใหญ่ หมายถึง มีสัมผัสพิจารณาที่ดี และหนูที่เป็นสหาย อาจเปรียบได้กับ ความคิด วิเคราะห์ที่รวดเร็ว พลุ่งพล่าน

 


พระภรตฤาษี

ครูเทพเจ้าแห่งการนาฏศิลป์ เป็นผู้แต่งคัมภีรภารตนาฏยศาสตร์ เป็นผู้จดจำท่ารำจากพระพรหมนำไปสอนโอรสทั้ง ๑๐๐ คน เพื่อให้ไปเผยแพร่ยังโลกมนุษย์ ลักษณะหัวโขน จะทำเป็นหลายแบบ คือ มีหน้าสีทอง(นิยมมากกว่าหน้าสีอื่นๆ) สีลิ้นจี่แดง สีกลีบบัว สีเนื้อ และสีจันทร์ เป็นต้น ลักษณะจอนหูทำเป็นแบบครีบหางปลากับจอนหูแบบธรรมดาที่ใช้กับเทริด และบางครั้งก็ไม่ติดจอนหู ลักษณะใบหน้าจะทำเป็นแบบหน้าอ้วน หน้าผอม หน้ายิ้ม หรือหน้าดุ สวมเทริดหนังสือ หรือเทริดยอดบายศรี ลักษณะของฟันเป็นหน้ายิ้มเห็นฟันเต็มปากบาง เห็นแต่ฟันบน ๒ ซี่ หรือเห็นฟันบน ๒ ซี่ ฟันล่าง ๒ ซี่ หรือไม่มีฟัน ซึ่งมีประวัติตามตำนาน ดังนี้ การฟ้อนรำตามภาพแกะสลักท่ารำที่เทวาลัยศิวะนาฏราชนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายทั่ว ประเทศอินเดีย และโดยนัยนี้ก็ยังเผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชีย อาคเนย์ จนเข้ามาในประเทศไทย ท่านผู้ทรงวิทยาคุณทั้งหลายได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ท่ารำชุดนี้เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะในปี พ.ศ. ๑๘๐๐ ที่สร้างเทวาลัย ศิวนาฏราช ไทยเราเพิ่งตั้งกรุงสุโขทัย ท่ารำที่ไทยได้ดัดแปลงจากอินเดียในครั้งนั้น ต้องเป็นท่ารำประดิษฐ์โดยนักปราชญ์สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมารุ่นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้แก้ไขปรับปรุงหรือประดิษฐ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ท่ารำของไทยจึงดูห่างไกลจากอินเดีย ดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งถ้าเราเทียบท่ารำของพระอิศวร ทั้ง ๑๐๘ ท่า ตามที่พระ ภรตมุนีรวบรวมไว้ในตำรานาฏยศาสตร์ กับท่ารำแม่บทของไทยแล้ว มีคล้ายคลึงกัน มากที่สุด ๒ ท่า คือ ท่ากินนรเลียบถ้ำ และ ท่าแมงมุมชักใย ทั้ง ๒ ท่าของแม่บทไทย เทียบได้ใกล้เคียงกับ ท่าลตาวฤศจิก และ ท่าคงคาอวตาร ส่วนท่าอื่น ๆ ผิดเพี้ยน กันมาก อย่างไรก็ดี ไทยเรายังสำนึกในพระคุณของพระภรตมุนีว่า เป็นครู เป็นบุพการี จึงประดิษฐ์หัวโขนเป็นลักษณะหัวฤๅษีมีอาการยิ้มอย่างเมตตาไว้บูชา ในฐานะเป็น สัญลักษณ์ของครูแห่งนาฏกร ซึ่งผู้ร่ำเรียนวิชานี้ต้องครอบจากหัวฤๅษีนี้ทุกคน แสดงถึงความศรัทธาอย่างจริงจังต่อพระภรตมุนี


พระพิราพ

พระพิราพ ในคติเดิมเรียกว่าพระไภรวะ เป็นอวตารปางดุร้ายปางหนึ่งของพระศิวะ เมื่อชาวไทยรับ   ดุริยางคศิลป์มาจากประเทศอินเดีย คติการนับถือพระอิศวรนารายณ์ทวยเทพทั้งหลายรวมไปถึงพระไภรวะจึงติดตามมาด้วย แต่เมื่อเข้ามาในไทยแล้วมีการเรียกนามพระองค์เพี้ยนไปจากเดิมเป็นพระพิราพ แล้วนับถือว่าเป็นครูสูงสุดทั้งฝ่ายนาฏศิลป์และดุริยางค์ศิลป์ ปรากฏหลักฐานมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย และมีการบันทึกหลักฐานเป็นที่แน่ชัดราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระพิราพ มีความหมายในตำนาน”พระพิราพ”คือ พระอิศวรอวตาร กล่าวกันว่าเป็น เทพอสูรผู้เป็นบรมครูสูงสุดแห่งนาฎศิลป์ และเป็นบรมครูองค์สำคัญของกลุ่มนาฎศิลป์เคารพในฐานะบรมครูผู้ศักดิ์สิทธิ์ ทรงฤทธิ์แรงครู การนับถือพระพิราพเป็นบรมครูสืบเนื่องประเพณีการบูชา”พระไภราวะ”ของชาวอินเดียและชาวเนปาล โดยพระไภราวะ คือภาคหนึ่งของพระอิศวรที่แสดงรูปกายออกเป็นยักษ์ทรงอิทธิฤทธิ์

ตามตำนาน ระบุว่า พระไภราวะมีฤทธิ์ในการปราบภูตผีปีศาจ เมื่อครั้งเกิดโรคระบาดคร่าชีวิตประชาชนล้มตายเป็นอันมากขาดที่พึ่งจึงได้ระลึกถึงพระไภราวะผู้ประทานชีวิตและความตายอันเป็นภาคมหาปราบหนึ่งของพระอิศวร จึงได้มีการตั่งบูชาพระไภราวะแล้วโรคระบาดทั้งหลายก็ได้หายไปบังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข

อย่างไรก็ตาม การนับถือพระไภราวะ จึงมีคติบูชาแล้ว ผู้นั้นปราศจากภยันอันตราย อาถรรพณ์ทั้งปวง ทั้งยังช่วยให้สุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยทั้งหลาย พระพิราพ มีลักษณะกายสีม่วงแก่ ๑ พักตร์ ๒ กร มีหอกเป็นอาวุธจึงเป็นเหตุที่ศิลปินและผู้คนเคารพบูชาเพราะมีข้อมูลว่า พระพิราพนี้ เป็นปางหนึ่งของพระอิศวร มีชื่อพ้องกันกับชื่อ”วิราวณะ”ของฮินดู อันเทพเจ้าแห่งการฟ้อนรำ ชื่อพิราพ เป็นนามเทพเจ้าแห่งคุณงามความดี มีลักษณะ เศียรโล้น สีม่วงแก่ (พิราพเดินป่า)สวมกระบังหน้า ปากแสยะ ตาจระเข้ มาจากคำว่า”ไภราวะ”หมายถึง”ผู้เป็นใหญ่แห่งป่า” เข้าใจว่าปางดุร้ายของพระอิศวร ในคติความเชื่อของไทย

พระพิราพ เป็น”อสูร”ความจริงแล้วอสูรมิใช่ยักษ์ แต่คนไทยส่วนใหญ่มองภาพรวมว่าเป็นเช่นนั้น จริงๆแล้วแบ่งออกเป็น อสูร ยักษ์ รากษส พระพิราพ เป็นอสูรจริงแล้วเป็นเทพเจ้า คือจะมีความแตกต่างกับรากษสที่นิยมบริโภคของดิบและซากสัตว์ เมื่อเป็นเทพจึงเสวยสิ่งที่เป็นทิพย์ พระพิราพ เป็นอสูรเทพบุตร นามเทพแห่งคุณงามความดี เป็นผู้ทรงศีลที่มั่นคงในการบำเพ็ญ มีนิสัยรักและห่วงใยมวลมนุษย์ชอบช่วยเหลือไม่ว่าจะยากดีมีจนที่มาขอพรแล้วก็มักจะประสบความสำเร็จทุกรายไป แต่ขอให้ผู้นั้นเป็นคนดีมีศีลธรรม มีสัจจะวาจา ตรงกันข้ามกับผู้ชอบกระทำความผิดคิดชั่ว ไม่มีศีลธรรม ไม่มีสัจจะ ไม่ละเว้นอบายมุข ท่านก็จะลงโทษ และเป็นผู้ประทานชีวิต ผู้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งเลวร้ายทั้งปวง


พระปรคนธรรพ

พระปรคนธรรพ มีกำเนิดมาจากหน้าผากของ พระพรหม (ผู้สร้างโลก) โดยพระพรหมสร้างพระปรคนธรรพให้จุติเป็น คนธรรพ ซึ่งก็คือเทวดาที่เป็นนักดนตรีอยู่บนสรวงสวรรค์ และต่อมาได้กลายมาเป็น เทวะฤๅษี มีนามว่า พระนารทมุนี หรือกล่าวโดยง่ายว่า พระนารทมุนี คือเทวดาที่บำเพ็ญตนเป็นฤๅษี (ไม่ใช่มนุษย์ที่เป็นฤๅษี เหมือนกับที่เราเห็นในรายการทีวี) จึงทำให้เหล่าคนธรรพบนสวรรค์จะให้ความเคารพ และยำเกรงต่อพระนารทมุนี หรือพระปรคนธรรพเป็นอย่างมาก พระปรคนธรรพ นอกจากในวงการของนักดนตรีปี่พาทย์แล้ว ในสายของ โขน ละคร จะมีศีรษะเป็นเหมือนกับหัวโขนซึ่งจะมีลักษณะเป็นหน้ามนุษย์มีสีเขียวแก่ทั้ง ใบหน้า และมีชฎาดอกลำโพงอยู่บนศีรษะ ซึ่งก็จะมีเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่เป็นประจำว่าพระปรคนธรรพจะต้องเป็นสีขาว เพราะเนื่องจากว่าครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเครื่องนุ่งขาวห่มขาวเป็นลักษณะของฤๅษี และถือไม้เท้ายาวข้างขวา ซึ่งนักดนตรีไทยส่วนใหญ่ก็จะมีบูชาที่บ้านในลักษณะของรูปภาพ ซึ่งหลายคนให้ความเคารพว่าเป็นพระปรคนธรรพในร่างของรัชกาลที่ 6 จึงทำให้ผู้ที่มีความนับถือรูปภาพนั้น ก็จะบอกว่าพระปรคนธรรพเป็นสีขาว แต่ก็จะมีอีกหลายคนบอกว่าภาพของรัชกาลที่ 6 นั้น ท่านทรงเครื่องแต่งเป็น พระปัญจสีขร และนุ่งขาวห่มขาวเหมือนกับศีรษะโขนที่เป็นสีขาว จึงทำให้เป็นที่ขัดแย้งกันอยู่พอสมควร แต่ผมลองพิจารณาด้วยตัวเองก็เห็นว่าภาพนั้น รัชกาลที่ 6 ท่านทรงเครื่องเป็นลักษณะของฤๅษี เพราะฉะนั้นก็สมควรที่จะเป็นพระปรคนธรรพมากกว่าพระปัญจสีขรที่ไม่ได้เป็น ฤๅษี แต่อย่างไรก็ดี ความคิดของผมก็มิได้ถือเป็นมติเอกฉันท์ ใครจะนับถือเป็นอย่างไรก็สุดแท้ แล้วแต่จะว่ากันไป เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของความเชื่อ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์


พระปัญจสิงขร

           “ดุริยเทพ” หมายถึง เทพเจ้าที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักดนตรีไทย ที่มีชื่อปรากฏในหนังสือโบราณ ซึ่งสรรเสริญบรมครูของดนตรี คือ พระวิศณุกรรม เทพเจ้า ผู้ให้กำเนิดเครื่องดนตรีทั้งหลาย ปัญจสิงขร เทพเจ้าแห่งพิณพาทย์ การขับร้อง และพระปรคนธรรพ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการดีด ซึ่งสอดคล้องกับ พูลผล อรุณรักถาวร ได้กล่าวถึงดุริยเทพดนตรีไทยไว้ว่า “ในโองการไหว้ครูดุริยางคศิลป์ ปรากฏนามเทวดา อยู่ 3 องค์คือ พระวศิวกรรม พระปัญจสิงขร พระปรคนธรรพ ว่าเป็นครู “ดุริยเทพ”

ความเชื่อที่มีต่อเทพเจ้าที่มีในประเทศไทยนั้น มีผลเนื่องมาจากแต่เดิมคนไทยมีการนับถือผีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีอิทธิพลจากอินเดียเข้ามาจึงส่งผลให้ศาสนาพราหมณ์ที่มีการนับถือเทพเจ้าต่างๆเข้ามามีผลต่อคนไทยที่จะเลือก  นับถือศาสนาและรวมถึงการดนตรีไทยที่มีการไหว้ครูตามตำราแบบศาสนาพราหมณ์ ดังที่ บุญธรรม ตราโมท กล่าวไว้ว่า “การไหว้ครูดุริยางค์ดนตรีนั้นน่าจะเนื่องมาโดยชาติไทยแต่โบราณคงจะนับถือเทพเจ้าและนับถือผีอยู่บ้างแล้ว เมื่อรับเอาคติทางศาสนาพราหมณ์ของอินเดียพร้อมกับการเริ่มระเบียบแห่งการดนตรีขึ้นใหม่ในแดนสุวรรณภูมิจึงได้นับถือเป็นแบบอย่างสืบต่อกันมาทีเดียวไม่มีปัญหาอะไรในการที่จะกล่าวว่า พิธีไหว้ครูของเราเอาแบบอินเดียมาใช้ เพราะชื่อเทพเจ้าทุก ๆ องค์ตรงตามตำ ราแห่งศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น

ในวงการดนตรีไทยประเภทเครื่องสาย หากจะกล่าวถึงครูเทพทางเครื่องสายที่สำคัญ นั้นก็คือ พระปัญจสิงขร หรือ พระปัญจสีขร ในภาษาบาลีเรียกว่า “ปัญจสิข” ตามคติความเชื่อในไตรภูมิพระร่วงหรือเตภูมิกถา มีความเชื่อเกี่ยวกับพระปัญจสิงขรดังนี้ พระปัญจสิงขร เป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นเด็กเลี้ยงโค และได้เสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่ด้วยคุณความดีของท่านที่สร้างเอาไว้ตอนเมื่อยังมีชีวิต ด้วยการสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หลายต่อหลายอย่าง จึงทำให้ท่านบังเกิดเป็น เทพบุตร ใน ชั้นจาตุมหาราช นามว่า “ปัญจสิขคนธรรพเทพบุตร”

พระนารายณ์

พระนารายณ์แทนสมมติเทพองค์พระนารายณ์ครูเทพเจ้าผู้บริหารและรักษาโลก เป็นเทพเจ้าผู้รักษาความดี ทรงเป็นมหาเทพผู้ทรงรักษาวิชาการไว้ให้อยู่คู่โลก ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีดอกตะแบก (สีชมพูอมม่วง) สวมมงกุฎยอดเดินหน หรือมงกุฎยอดชัย มีครุฑเป็นพาหนะ สถิต ณ เกษียรสมุทร มีพระลักษมี เทพเจ้าแห่งลาภและความดีเป็นพระมเหสี

พระอิศวร

หัวโขนพระอิศวรแทนสมมติเทพองค์พระอิศวร ครูเทพเจ้าผู้สร้างโลก เป็นใหญ่ในหมู่เทพเจ้าทั้งมวล ทรงเป็นผู้ประทานศิลปวิทยาการทั้งหลายในโลกมนุษย์ ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีขาว สวมมงกุฎน้ำเต้ากาบ นอกจากนี้ยังมีการทำมงกุฎเป็นยอดต่างๆ อีก เช่น ยอดน้ำเต้ากาบทรงปลี ยอดน้ำเต้ากาบทัดจันทร์ และยอดน้ำเต้ากาบปลายสะบัด เป็นต้น


พระพรหม

พระพรหมมีสี่พักตร์ พระศอสวมลูกประคำ พระหัตถ์แต่ละข้างถือดอกบัว, คัมภีร์ และหม้อน้ำ มีพาหนะเป็นหงส์หรือห่าน พระชายาคือพระสุรัสวดี เทพีแห่งศิลปะวิทยาการและความรอบรู้ในคัมภีร์มัตสยาปุราณะเล่าว่า พระพรหมเดิมทีมีถึงห้าพักตร์ การที่มีห้าพักตร์เกิดจาก การที่พระพรหมให้ได้กำเนิดผู้หญิงนางหนึ่งชื่อ ศตรูป ขึ้นมา ความงามของศตรูปทำให้พระองค์หลงใหล เมื่อศตรูปนี้เคลื่อนไปทางใด พระพรหมก็จะหันพระพักตร์เพื่อมองตามไปด้วย แต่ว่ามีครั้งหนึ่งที่พระพรหมไปดูแคลนพระศิวะเข้า ทำให้พระศิวะพิโรธ และใช้ไฟบรรลัยกัลป์จากพระเนตรที่สามที่กลางพระนลาฏเผาพระพักตร์ที่อยู่ด้านบนเศียรของพระพรหม จนเหลือเพียงสี่พักตร์ แต่อีกความเชื่อหนึ่งเล่าว่า เพราะพักตร์ด้านบนของพระพรหมนั้นเจิดจรัสมาก ทำให้พวกสุระและอสุระทนไม่ได้ จึงขอร้องให้พระศิวะเป็นผู้ตัดให้ และยังเชื่อด้วยว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างบุคคลในวรรณะต่าง ๆ จากอวัยวะแต่ละส่วน ได้แก่ พราหมณ์เกิดจากพระโอษฐ์, กษัตริย์เกิดจากอก, แพศย์เกิดจากท้อง และศูทรเกิดจากเท้า


พระวิษณุกรรม

พระวิศวกรรม หรือพระวิษณุกรรม (บาลี: วิสฺสุกมฺม) หรือ พระเพชรฉลูกรรม เป็น เทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์ ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องมือ สิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างให้กับมนุษย์สืบมาพระวิศวกรรมรับเทวโองการต่าง ๆ จากพระอินทร์ เพื่อสร้าง อุปกรณ์ สิ่งของ อาคาร ต่าง ๆ มากมาย เป็นผู้นำวิชาช่าง มาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและใช้งานสิ่งของต่าง ๆ จนมีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้

ช่างไทยแขนงต่าง ๆ ให้ความเคารพบูชาพระวิศวกรรมในฐานะครูช่าง หรือเทพแห่งวิศวกรรมของไทย โดยเรามักพบเห็นรูปจำลององค์ท่านได้บ่อย ๆ ตามสถานศึกษาทางช่างทุกสถาบัน โดยนิยมสร้างอยู่สองท่า คือ ท่าประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือ ผึ่ง (จอบสำหรับขุดไม้) และอีกข้างถือ ดิ่ง และท่าประทับยืนมือขวาถือไม้เมตรหรือไม้วา มือซ้ายถือลูกดิ่งและไม้ฉาก ที่มาขององค์พระวิษณุกรรมทั้ง 2 ท่านี้ พอขยายความได้ว่า หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพช่างก่อสร้าง มักอยู่ในท่ายืนมือถือลูกดิ่งและไม้เมตรหรือไม้วาอันเป็นเครื่องมือของช่างก่อสร้างมาแต่สมัยโบราณซึ่งช่างทั้งหลายทราบดีว่าเป็นเครื่องมือสำหรับวัดระยะ วัดความเที่ยงตรง แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้นยังแฝงไปด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิต คือความแม่นยำ เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่มาของช่างที่ดี คือความมีคุณธรรมประจำใจ หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่างก่อสร้างอยู่ด้วย มักจะใช้ท่านั่ง เข้าใจว่าผู้สร้างคงจะชี้ให้เห็นเด่นชัดถึงสถาบันผู้ผลิตช่างก่อสร้าง อันเป็นช่างเก่าแก่มีมาแต่ก่อนแล้ว


พระอินทร์

พระอินทร์ คือ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กายสีเขียว มีพระเนตรถึงพันดวง ใช้วัชระ(สายฟ้า) เป็นอาวุธ  มีช้างเอราวัณเป็นพาหนะ  พระองค์มีมเหสี ๔ องค์ คือ สุจิตรา สุธรรมา สุนันทา และสุชาดา พระอินทร์เป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์โลก ยามใดที่มีเรื่องเดือดร้อนขึ้นบนโลกมนุษย์ อาสนะของพระองค์ที่เคยอ่อนนุ่ม ก็จะแข็งกระด้าง หรือบางครั้งก็ร้อนจนไม่สามารถประทับอยู่ได้ พระอินทร์มีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ท้าวสหัสนัยน์ ท้าวโกลีย์ ท้าวสักกะ เทวราช อมรินทร์ ศักรินทร์ หัวโขนพระอินทร์แทนสมมติเทพองค์พระอินทร์ ครูเทพเจ้าผู้ให้ความช่วยเหลือมนุษย์ เป็นใหญ่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีเขียว สวมมงกุฎยอดเดินหน


พระฤาษีกไลโกฏิ

พระฤาษีองค์นี้มีลักษณะพิเศษคือ เป็นพระฤาษีหน้าเนื้อ นับเป็นมหาฤาษีผู้ทรงตบะสูงส่งท่านหนึ่ง และเป็นอาจารย์สายฤาษีองค์หนึ่งที่ผมเคารพนับถือเป็นการส่วนตัวครับ ท่านมีนามในตำราต่างๆ ว่า พระฤาษีฤษยะสฤงค์ บ้าง หรือ พระฤาษีอิสีสิงค์ บ้าง ตามตำราว่าเป็นบุตรของ พระฤาษีพิภาณฑกมุนี และเป็นหลานของ พระฤาษีกาศยปมุนี ซึ่งเป็นหนึ่งในฤาษีที่ทำพิธีอัศวเมธ เพราะฉะนั้นจึงเรียกได้ว่าพระฤาษีกไลยโกฏิองค์นี้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลฤาษีโดยแท้

พระฤาษีกไลยโกฎิสามารถนั่งนิ่งไม่ขยับกาย จิตดิ่งอยู่ในฌานเช่นนั้นโดยไม่ต้องกินข้าว ไม่ต้องกินน้ำ ก็สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจจิตที่มีพลังงานมหาศาล จนได้ฌานสมาบัติสูงมาก มีอานุภาพดุจพระอาทิตย์นับพันดวง แต่การบำเพ็ญตบะฌานอันสูงส่งนี้กลับก่อความเดือดร้อนแก่เมืองพัทวิสัย เพราะด้วยเดชความแรงกล้าของฌานสมาบัติ ซึ่งมีอานุภาพดุจพระอาทิตย์นับพันดวงนั่นเอง ทำให้บ้านเมืองที่พระฤาษีกไลยโกฎเข้าฌานนั้นเกิดวิปริต ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลถึง ๓ ปี เกิดความแห้งแล้ง และเดือดร้อนไปทั่ว


พระลักษณ์

พระลักษมณ์ เป็นชื่ออนุชาของพระราม ตามเรื่องรามเกียรติ์  พระลักษมณ์เป็นพระโอรสลำดับที่ ๓ ของท้าวทศรถ ประสูติจากนางสมุทรเทวี (อ่านว่า สะ-หฺมุด-เท-วี)  แม้จะมีพระสัตรุด (อ่านว่า สัด-ตะ-หฺรุด) เป็นอนุชาร่วมพระมารดา แต่พระลักษมณ์ก็สนิทกับพระรามมากกว่า พระลักษมณ์ได้ขอโดยเสด็จพระรามออกเดินป่าด้วย และประสบทุกข์ยากนานาระหว่างที่เดินป่าและสู้รบกับฝ่ายทศกัณฐ์ จนถึงกับเกือบสิ้นพระชนม์ชีพด้วยหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณและหอกกระบิลพัท (อ่านว่า กฺระ-บิน-ละ-พัด) ของอินทรชิต (อ่านว่า อิน-ทอ-ระ-ชิด).  ชื่อของพระลักษมณ์มาจากภาษาสันสกฤตว่า ลกฺษมณ (อ่านว่า ลัก-สะ –มะ -นะ) แปลว่า ผู้มีเครื่องหมายอันเป็นมงคล หรือผู้มีลักษณะดี. ในภาษาไทย เขียนเป็น ๒ อย่าง คือ ลักษณ์ กับ ลักษมณ์ ต่างกันที่รูปแรกเขียนไม่มี ม แต่รูปหลังเขียนมี ม หน้า ณ.


พระราม

ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีเขียวนวลตอนครองเมืองสวมมงกุฎยอด ตอนเดินดง สวมชฎายอดบวช กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 4 กายสีเขียวนวล 1 พักตร์ 2 กร คือพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นโอรสของท้าวทศรถกับนางเกาสุริยา ปกติพระรามทรงศรเป็นอาวุธ เวลาส้าแดงอิทธิฤทธิ์ปรา กฎเป็น 4 กร ทรงเทพอาวุธเช่นเดียวกับพระนารายณ์ คือ ตรีคฑาจักร และสังข์


สหัสเดชะ

สหัสเดชะ (แปลว่า มีกำลังนับพัน) เป็นรากษสกายสีขาว เจ้าเมืองปางตาล มี 1000 หน้า 2000 มือ ร่างกายสูงใหญ่ดั่งเขาอัศกรรม มีกระบองวิเศษที่พระพรหมประทานให้มีฤทธิ์คือต้นชี้ตายปลายชี้เป็นและได้รับพรเมื่อข้าศึกหรือศัตรูเห็นจงหนีหายไปด้วยความกลัว เมื่อพญามูลพลัมรู้ว่าทศกัณฐ์เพื่อนของตนกำลังรบกับพระรามอยู่จึงคิดจะช่วยโดยชวนสหัสเดชะพี่ชายของตนไปออกรบด้วยกัน ภายหลังด้วยความชะล่าใจของตนจึงถูกหนุมานใช้กลอุบายแปลงเป็นลิงน้อยหลอกเอากระบองวิเศษมาหักทิ้ง และฆ่าสหัสเดชะตายในที่สุด สหัสเดชะ เป็นหนึ่งในยักษ์ทวารบาลสองตน ที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดอรุณราชวราราม[1]คู่กับทศกัณฐ์ เพราะถือว่าเป็น ยักษ์ที่มีฤทธิ์มากดุจเดียวกับทศกัณฐ์ ลักษณะหัวโขน หน้ายักษ์สีขาว ทำเป็นหน้า 4 ชั้น หรือ 5 ชั้น ชั้นแรกหน้าปกติ 1 หน้า หน้าเล็ก ๆ 3 หน้า เรียงอยู่ตรงท้ายทอย ชั้นที่ 2 3 4 ทำเป็นหน้าเล็ก 4 หน้า ชั้นบนสุดทำเป็น 2 แบบ แบบหน้ายักษ์ แบบหน้าพรหม ปากแสยะตาโพลง สวมมงกุฎชัย


พระกัณฐ์

ทศกัณฐ์ เป็นบุตรคนโตของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เจ้ากรุงลงกา และเป็นหลานของท้าวมาลีวราช เดิมเป็นยักษ์ชื่อ “นนทก” กลับชาติมาเกิด ซึ่งนนทกมีหน้าที่ล้างเท้าให้กับเทวดาทั้งหลาย เทวดาเหล่านั้นก็มักจะลูบหัวนนทกจนหัวล้าน นนทกจึงเกิดความแค้น เลยไปขอนิ้วเพชรจากพระอิศวร แล้วทำร้ายพวกเทวดาที่มาลูบหัวตน นนทกได้เข่นฆ่าเหล่าเทวดาตายนับไม่ถ้วน ทำให้พระอิศวรสั่งให้พระนารายณ์ให้มาช่วยปราบนนทก พระนารายณ์จัดการกับนนทก โดยการจำแลงองค์เป็นนางเทพอัปสรดักอยู่ตรงทางที่นนทกเดินผ่านเป็นประจำ ฝ่ายยักษ์นนทกเมื่อได้เห็นนางจำแลงจึงเกิดความหลงและเข้าไปเกี้ยวพาราสี นางจำแลงแสร้งทำยินดี โดยยื่นข้อเสนอว่าให้นนทกร่ายรำตามนางทุกท่าแล้วจะยินดีผูกมิตรด้วย และแล้วยักษ์นนทกก็ทำตามนาง ด้วยท่ารำตามกลอน


หนุมาน

หนุมานเป็นพญาวานรที่เป็นทหารเอกของพระราม  มีผิวกายสีขาว มีกุณฑล (ตุ้มหู)  ขนเพชร เขี้ยวแก้ว หาวเป็นดาวเป็นเดือน. หนุมานเป็นลูกของนางสวาหะกับพระพายซึ่งเป็นเทพแห่งลม  หนุมานจึงมีชื่อว่า  วายุบุตร ด้วย. หนุมาน แปลว่า ผู้มีคาง หมายถึง หนุมานมีคางใหญ่และเด่น

พระอิศวรเล็งเห็นว่านางสวาหะผู้ถูกนางกาลอัจนาสาปให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลมอยู่ที่เชิงเขาจักรวาลสมควรมีลูกที่จะได้เป็นทหารเอกของพระราม  จึงให้พระพายเอากำลังและอาวุธของพระองค์ไปซัดเข้าปากนางสวาหะเพื่อให้เกิดลูกผู้เก่งกล้า  อาวุธทั้ง ๓ อย่างคือ จักรแก้วกลายเป็นหัว ตรีเพชรกลายเป็นร่างกายและมือเท้า   คทาเพชรก็กลายเป็นสันหลังถึงหาง  เมื่อจะทำลายล้างศัตรูให้ชักเอาตรีเพชรที่อกออกมา  ให้พระพายเป็นบิดาและเป็นผู้รักษากุมารนั้น หนุมานมีกำเนิดที่พิเศษกว่าลิงอื่น ๆ คือกระโดดออกจากปากของมารดาในวันอังคาร  เดือนสาม  ปีขาล   มีผิวกายสีขาว  มีขนาดเท่ากับผู้มีอายุได้  ๑๖  ปี


เทริด

เทริด เป็นเครื่องสวมหัวเมื่อเล่นละครแบบเก่าสุดในราชสํานักยุคต้นอยุธยา (หรือก่อนนั้น) มีต้นเค้าแรกสุดเป็นกะบังหน้าในประติมากรรมแบบเขมร ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1400 ปัจจุบันมักเรียก “เทริดโนรา” เพราะยังใช้ใส่เล่นโนราทางภาคใต้ แต่ความจริงเป็นเทริดละครยุคแรกเริ่มในอยุธยา ส่วนโนราแบบภาคใต้แท้จริงแล้วคือละครนอกของอยุธยา แพร่หลายลงไปทางใต้ นับเป็นละครนอกตกค้างเก่าแก่ที่สุด แต่เรียกโนราตามชื่อตัวละครเอกที่นิยมเล่นเรื่องนางมโนห์รา ความสําาคัญของเทริดยังเห็นได้จากบนแท่นเชิญศีรษะศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพิธีไหว้ครู ครอบโขนละคร ต้องมีเทริดตั้งไว้บูชาด้วย